940 Views |
Probiotics จุลินทรีย์มากประโยชน์ที่พบในอาหารหลากหลายชนิด แต่ Probiotics จะมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ชนิดใดบ้าง ควรจะรับประทานตอนไหนจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถทำความรู้จักกับ Probiotics ไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้
โพรไบโอติกส์ (probiotics) คือ จุลินทรีย์มีชีวิตที่จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ แต่สามารถพบ probiotics ได้ในอาหารหลายประเภท จึงสามารถเพิ่มปริมาณ probiotics เข้าสู่ร่างกายได้ไม่ยาก โดย probiotics จะประกอบไปด้วยจุลินทรีย์หลากชนิดที่มีคุณสมบัติต่างกันไปอาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร หรือที่เรียกกันว่า gut microbiome แต่ทั้งหมดล้วนมีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรงได้
หลาย ๆ คนอาจสับสนว่า probiotics และ prebiotics แตกต่างกันอย่างไร สามารถอธิบายอย่างง่ายได้ว่า prebiotics ก็คืออาหารของ probiotics นั่นเอง
Probiotics มีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการปรับสมดุลลำไส้ ที่จะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, กระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ, ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแปลกปลอมในร่างกายและปกป้องผนังลำไส้ไม่ให้เชื้อโรคมาเกาะได้ง่าย, ช่วยลดภาระการทำงานของระบบทางเดินอาหารโดยการช่วยย่อยและดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นเข้าสู่ร่างกาย ตลอดจนช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ด้วยประโยชน์ของ Probiotics ดังที่กล่าวไป ทำให้ Probiotics สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับผิวหนัง โรคที่อาจเกิดขึ้นบริเวณช่องคลอด และอาการต่าง ๆ ได้ เช่นโรคผื่นแพ้ผิวหนัง, โรคท้องร่วงจากการติดเชื้อในเด็ก, โรคท้องร่วงจากยาปฏิชีวนะ, โรคมะเร็งลำไส้, โรคลำไส้อักเสบ, อาการลำไส้แปรปรวน, อาการไขมันในเลือดสูง, โรคอ้วน และ โรคเชื้อราในช่องคลอด เป็นต้น โดยจุลินทรีย์ Probiotics แต่ละชนิดให้ผลช่วยลดโอกาสการเกิดโรคที่แตกต่างกันออกไป
Probiotics ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์หลายชนิด แต่จุลินทรีย์ที่โดดเด่นที่สุดจะมีทั้งหมด 7 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ Lactobacillus, Bifidobacterium, Saccharomyces, Streptococcus, Enterococcus, Escherichia และ Bacillus
ทั้งนี้จุลินทรีย์แต่ละชนิดจะมีบทบาทที่แตกต่างกันออกไป เช่น
Lactobacillus มีส่วนช่วยในการย่อย lactose ในกลุ่มคนที่แพ้ lactose และยังสามารถช่วยป้องกันอาการท้องร่วงได้อีกด้วย
Bifidobacterium ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน โรคอ้วน หรือ โรคเบาหวานได้
Saccharomyces ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง หรืออาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร
สามารถพบ Probiotics ได้ในอาหารหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารหมักดองรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากกระบวนการหมักดองจะทำให้กิดจุลินทรีย์ Probiotics ขึ้น เช่นอาหารดังต่อไปนี้
นมเปรี้ยว หรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการหมักจนเกิดจุลินทรีย์ Probiotics สามารถทานได้ง่าย คล่องคอ มักมีการผสมวัตถุดิบอื่น ๆ อย่างผลไม้ต่าง ๆ เพื่อให้มีรสชาติที่หลากหลาย
โยเกิร์ต หรือผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการหมักมาแล้วเช่นเดียวกันกับนมเปรี้ยว จึงมีจุลินทรีย์ Probiotics เป็นจำนวนมาก
ชีสบางประเภท เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการหมักจนเกิดจุลินทรีย์ Probiotics เช่นกัน โดยมักนิยมรับประทานคู่กับอาหารชนิดอื่น เช่น ขนมปัง หรือ แฮม
กิมจิ ผักดองจากประเทศเกาหลี มักมีรสชาติ เปรี้ยว เค็ม หรืออาจเผ็ดบ้างในบางครั้ง นิยมรับประทานเป็นเครื่องเคียงคู่กับมื้ออาหาร
ถั่วนัตโตะ ถั่วหมักจากประเทศญี่ปุ่นที่อุดมไปด้วยสารอาหารและ Probiotics ที่มีประโยชน์
ซุปมิโซะ มีส่วนผสมของถั่วเหลืองหมักจึงมี Probiotics จำนวนมากและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
คอมบูชา ชาหมักที่ผสมกับน้ำตาล ยีสต์ และหัวเชื้อจุลินทรีย์ จึงมี Probiotics จำนวนมาก
ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การรับประทาน Probiotics มักเป็นช่วงเวลาที่ท้องว่าง ไม่ว่าจะเป็นก่อนการรับประทานอาหาร หรือช่วงระหว่างวันที่ยังไม่ได้รับประทานมื้ออาหาร เนื่องจาก Probiotics บางชนิดไม่ได้มีความทนทานต่อกรดในกระเพาะอาหารมากนัก จึงอาจถูกทำลายระหว่างทาง ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทาน Probiotics
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะรับประทาน Probiotics จากอาหารทั่วไปอย่าง โยเกิร์ต, นมเปรี้ยว หรือรับประทานอาหารเสริม Probiotics รูปแบบต่าง ๆ ก็ควรรับประทานก่อนมื้ออาหารใด ๆ จึงจะดีที่สุด
Probiotics คือจุลินทรีย์มีชีวิตที่มีส่วนช่วยปรับสมดุลระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ไปจนถึงระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยจุลินทรีย์หลากหลายชนิดที่ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป นอกจากจะช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร, โรคผื่นแพ้ผิวหนัง, โรคที่เกี่ยวข้องกับไขมันและความอ้วน ตลอดจนโรคที่อาจเกิดบริเวณช่องคลอดของผู้หญิงได้อีกด้วย
การเพิ่มปริมาณ Probiotics เข้าสู่ร่างกายก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่รับประทานอาหารหมักดองประเภทต่าง ๆ เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ นัตโตะ คอมบูชา หรือรับประทานอาหารเสริม Probiotics ที่สามารถหาได้ไม่ยากในปัจจุบัน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการรับประทาน Probiotics ที่สุดคือเวลาท้องว่าง
สำหรับท่านที่สนใจสาระน่ารู้ดี ๆ แบบนี้ สามารถกดติดตามเพจ Jpogeneเพื่อไม่ให้พลาดทุกบทความสุขภาพและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงได้ไม่ยาก
Reference:
US Department of Health and Human Services, National Institutes of Health: Office of Dietary Supplements. Probiotics Available from : https://ods.od.nih.gov/factsheets/Probiotics-HealthProfessional
A.A. Amara, A. Shibl, Role of Probiotics in health improvement, infection control and disease treatment and management, Saudi Pharmaceutical Journal, Volume 23, Issue 2, 2015, Pages 107-114, ISSN 1319-0164, https://doi.org/10.1016/j.jsps.2013.07.001.
Justin L Carlson, Jennifer M Erickson, Beate B Lloyd, and Joanne L Slavin. Health Effects and Sources of Prebiotic Dietary Fiber. Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6041804/pdf/nzy005.pdf
Maria Kechagia, Dimitrios Basoulis, Stavroula Konstantopoulou, et all. Health Benefits of Probiotics: A Review. [Online]. Available from : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4045285