[ไขข้อสงสัย] ลําไส้อักเสบเกิดจากอะไร มีอาการแบบไหน สามารถป้องกันได้อย่างไรบ้าง

1519 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ลำไส้อักเสบ

ลำไส้อักเสบ เกิดจากการอักเสบหรือการติดเชื้อที่บริเวณตั้งแต่ลำไส้ใหญ่ไปจนถึงลำไส้ตรง โดยอาจแสดงออกได้หลายอาการ เช่น การปวดท้อง การท้องร่วง หรือการมีมูกเลือดปนมากับอุจจาระ แต่สาเหตุจริง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบคืออะไรกัน อาการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้มีอะไรบ้าง จะสามารถป้องกันโรคลำไส้อักเสบได้อย่างไร สามารถหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้

ทำความรู้จักกับโรคลำไส้อักเสบ

โรคลำไส้อักเสบคือโรคทางเดินอาหารประเภทหนึ่งที่เกิดการอักเสบขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง โดยอาจเกิดแผลและมีเลือดออกเกิดขึ้นในบริเวณที่มีอาการอักเสบได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องหรือการมีมูกเลือดอันเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็นโรคลำไส้อักเสบ

โรคลำไส้อักเสบนี้อาจเป็นโรคที่หลาย ๆ คนมองว่าไม่ร้ายแรง รักษาแปปเดียว เดี๋ยวก็หาย แต่การเป็นโรคลำไส้อักเสบบ่อย ๆ เป็นซ้ำ ๆ ก็อาจส่งผลให้กลายเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากได้ ดังนั้นจึงควรสังเกตตนเอง รักษา และหาแนวทางป้องกันลำไส้อักเสบเสียแต่เนิ่น ๆ นั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ แต่ทางการแพทย์ได้มีการคาดเดาปัจจัยต่าง ๆ เอาไว้ว่าโรคลำไส้อักเสบนี้อาจเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม จึงไม่สามารถป้องกันลำไส้จากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ อย่างไวรัสหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ลำไส้ติดเชื้อและเกิดการอักเสบขึ้น

ในกรณีที่ลำไส้อักเสบบ่อยครั้ง หรือภูมิคุ้มกันในร่างกายยังคงทำงานผิดปกติอย่างต่อเนื่องไปจนถึงระยะเวลาหนึ่งก็อาจส่งผลให้กลายเป็นอาการลำไส้อักเสบเรื้อรังต่อไป

อาการของลําไส้อักเสบมีอะไรบ้าง

ทำความรู้จักกับลำไส้อักเสบกันไปเบื้องต้นแล้ว สิ่งสำคัญต่อมาที่จะทำให้คุณสังเกตตนเองได้ว่ากำลังเป็นโรคลำไส้อักเสบหรือไม่คือการสังเกตสัญญาณจากอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณท้อง
  • เมื่อขับถ่ายอาจพบเห็นมูกหรือมูกเลือดปนมากับอุจจาระ
  • อุจจาระอาจมีลักษณะเหลว เป็นน้ำ
  • มีอาการคล้ายท้องร่วง ถ่ายท้องหลายครั้งในวันเดียว
  • รู้สึกคลื่นไส้ อยากจะอาเจียน
  • มีอาการอ่อนเพลีย หมดแรง
  • ปวดเมื่อยตามร่างกายและอาจปวดศีรษะร่วมด้วย
  • อาจมีไข้ต่ำ ๆ รู้สึกหนาวสั่น ในบางรายอาจไข้สูง
  • อาจมีอาการอักเสบบริเวณอื่นของร่างกาย เช่นการอักเสบตามข้อ

ทั้งนี้อาจมีอาการอื่น ๆ อีก และในแต่ละรายก็อาจมีอาการแตกต่างกันไป ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการจึงจะเรียกว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบ ดังนั้นหากมองเห็นสัญญาณต่าง ๆ ในเบื้องต้นก็อาจตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน เพื่อนำไปปรึกษาแพทย์ต่อไปได้

วิธีวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบ

การวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบสามารถทำได้หลายวิธีโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่

  • การตรวจอุจจาระ
  • การตรวจเลือด
  • การใช้กล้องส่องทางเดินอาหาร
  • การวัดค่าเกลือแร่ในร่างกาย
  • การตรวจเพาะเชื้อจากอุจจาระหรือเลือดของผู้ป่วย
  • การเอกซเรย์ช่องท้องของผู้ป่วย

และอาจมีวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยทางแพทย์อาจใช้หลายวิธีประกอบกันในการวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่นอน และสามารถวินิจฉัยแยกโรคลำไส้อักเสบออกจากโรคระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ได้

การรักษาอาการลำไส้อักเสบ

การรักษาและบรรเทาอาหารโรคลำไส้อักเสบสามารถทำได้โดยการทำได้หลายรูปแบบ โดยมากจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่นหากปวดท้องก็ให้ยาแก้ปวด หากมีอาการคลื่นไส้ก็ให้ยาแก้คลื่นไส้ ซึ่งจะต้องทำไปพร้อม ๆ กับการให้น้ำเกลือหรือให้ดื่มน้ำผสมผงละลายเกลือแร่ตามอาการของแต่ละคน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำ

ในกรณีที่พบว่าอาการอักเสบของโรคลำไส้อักเสบมีที่มาจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคต่าง ๆ แพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย และในกรณีที่เป็นลำไส้อักเสบรุนแรงจนการรักษาด้วยยาไม่เพียงพอก็อาจเลือกใช้วิธีการอื่น ๆ เช่นการผ่าตัดเข้าช่วยต่อไป

แนวทางการป้องกันโรคลำไส้อักเสบ

เมื่อรู้แล้วว่าอาการลำไส้อักเสบเป็นอย่างไร อันตรายต่อสุขภาพของเราแค่ไหน หลาย ๆ คนก็อาจต้องการแนวทางป้องกันโรคลำไส้อักเสบ เพื่อให้ไม่เป็นบ่อยไปจนถึงขั้นที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายได้ คุณสามารถป้องกันโรคลำไส้อักเสบได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารแต่พอดี ไม่รับประทานอาหารทีละมาก ๆ 
  • ดื่มน้ำและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ดูแลลำไส้และออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพลำไส้แข็งแรง
  • รับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ดีอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ในลําไส้ให้ภูมิคุ้มกันและระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานเป็นปกติอยู่ตลอดเวลา
  • รักษาสุขอนามัยและความสะอาดของอาหารที่รับประทานเป็นประจำ
  • ล้างมือบ่อย ๆ ทั้งก่อน-หลังรับประทานอาหาร รวมไปถึงหลังเข้าห้องน้ำ
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึงตลอดชิ้นอาหาร
  • งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดภาระที่อาจเกิดต่อลำไส้

วิธีเหล่านี้เป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดโรคลำไส้อักเสบได้ในชีวิตประจำวัน


สรุป


ลำไส้อักเสบเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่คาดการณ์ว่ามีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมาจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายจนเกิดการติดเชื้อและอักเสบบริเวณลำไส้ได้ ผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้อักเสบจึงมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง อ่อนเพลีย ขับถ่ายมีมูกหรือมูกเลือด และอาจมีไข้อ่อน ๆ ได้อีกด้วย

การวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบสามารถทำได้หลายวิธีตามดุลยพินิจของแพทย์ เมื่อพบว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบแล้วมักมีการรักษาตามอาการโดยการให้เกลือแร่ ยาบรรเทาอาการต่าง ๆ และยาปฏิชีวนะหากพบว่าเป็นผลมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคอื่น ๆ 

การป้องกันหรือลดโอกาสเกิดโรคจึงสามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างการรับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย รักษาความสะอาดและรักษาสุขภาพของลำไส้อย่างสม่ำเสมอนั่นเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้