[ไขข้อสงสัย] ทำไมต้องมี "การตรวจอุจจาระ" ตอนตรวจสุขภาพ

977 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตรวจอุจาระ

การตรวจอุจจาระเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานที่หลายคนอาจสงสัยกันว่าสามารถใช้วินิจฉัยโรคอะไรได้บ้าง การตรวจอุจจาระบอกให้เรารู้ถึงปัญหาสุขภาพได้อย่างไร และการตรวจอุจจาระเป็นประโยชน์มากแค่ไหนสำหรับการตรวจสุขภาพทั่วไป

เพราะการตรวจอุจจาระมีขั้นตอนที่ง่าย และมีค่าใช้จ่ายต่ำ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าการตรวจประเภทนี้มีประโยชน์ต่อเราอย่างไร มาทำความรู้จักกับการตรวจอุจจาระรวมไปถึงการเตรียมตัวและขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเพื่อการตรวจอุจจาระไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้

การตรวจอุจจาระ (stool examination) คืออะไร

การตรวจอุจจาระ คือ การตรวจสุขภาพโดยเก็บตัวอย่างอุจจาระมาผ่านการตรวจด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจด้วยตาเปล่า การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการตรวจผ่านห้องปฏิบัติการ ซึ่งการตรวจอุจจาระช่วยวินิจฉัยโรคได้หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคในระบบทางเดินอาหาร

การตรวจอุจจาระสามารถทำได้แทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่คลินิก ตลอดจนโรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วยขั้นตอนการตรวจที่ไม่ซับซ้อน ไม่เสี่ยงเจ็บตัว และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการตรวจรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งทำให้การตรวจอุจจาระเป็นการตรวจสุขภาพที่เหมาะกับคนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงอายุอีกด้วย

ประโยชน์ของการตรวจอุจจาระ

ประโยชน์ของการตรวจอุจจาระมีหลายประการ ได้แก่

- การตรวจอุจจาระช่วยให้วินิจฉัยโรคทางเดินอาหารบางชนิดได้ว่าเกิดจากอะไร หรือใช้แยกโรคทางเดินอาหารบางชนิดออกจากโรคทางเดินอาหารอื่น ๆ ได้ เช่น ลำไส้แปรปรวน
- การตรวจอุจจาระช่วยให้ทราบสุขภาพของระบบทางเดินอาหารว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่ มีแบคทีเรียในลำไส้สมดุลเหรือเปล่า
- การตรวจอุจจาระช่วยให้พบพยาธิหรือไข่พยาธิได้
- การตรวจอุจจาระช่วยให้พบแผลเรื้อรังในทางเดินอาหารได้ ซึ่งนำไปสู่การพบโรคต่าง ๆ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร มะเร็งในทางเดินอาหาร ตลอดจนริดสีดวง

เรียกได้ว่าการตรวจอุจจาระเพียงครั้งเดียว ก็สามารถช่วยให้เราทราบสุขภาพของระบบทางเดินอาหารเราได้ทั้งภาพรวมและแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับโรคต่าง ๆ 

ดังนั้นนอกจากการตรวจอุจจาระจะเป็นการตรวจที่ดีสำหรับการติดตามสุขภาพของระบบทางเดินอาหารแล้ว การตรวจอุจจาระยังเป็นการตรวจสุขภาพที่เหมาะสำหรับการตรวจสุขภาพประจำปีของทุก ๆ คนอีกด้วย

การตรวจอุจจาระแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

ประเภทของการตรวจอุจจาระสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือการตรวจอุจจาระแบบพื้นฐาน และการตรวจอุจจาระแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะมีจุดแตกต่างดังต่อไปนี้

1. การตรวจอุจจาระแบบพื้นฐาน

การตรวจอุจจาระแบบพื้นฐาน เป็นการตรวจเบื้องต้นที่ทำได้ง่าย และสามารถทำได้ตามสถานพยาบาลทั่วไป โดยจะเน้นไปที่การตรวจดูลักษณะภายนอกของอุจจาระว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร มีลักษณะแข็ง นุ่ม หรือเป็นน้ำ มีสิ่งอื่นเจือปนมากับอุจจาระหรือไม่ และสีของอุจจาระเป็นอย่างไร เป็นสีน้ำตาลปกติ หรือออกดำ ออกขาวผิดปกติหรือไม่

นอกจากการตรวจอุจจาระโดยดูลักษณะภายนอกแล้ว การตรวจอุจจาระขั้นพื้นฐานอาจประกอบไปด้วยการส่องกล้องตรวจเพื่อดูเม็ดเลือดและการมีอยู่ของพยาธิอีกด้วย รวมไปถึงบางสถานพยาบาลก็อาจตรวจความเป็นกรดด่างและภาวะมีเลือดปนในอุจจาระเพิ่มเติมได้เช่นกัน

2. การตรวจอุจจาระแบบเฉพาะเจาะจง

การตรวจอุจจาระแบบเฉพาะเจาะจง คือการการตรวจอุจจาระอย่างละเอียดมากขึ้น ประกอบไปด้วย

- การตรวจอุจจาระขั้นละเอียด เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
- การตรวจอุจจาระสำหรับหาเชื้อโดยเฉพาะ เพื่อให้ทราบสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
- การตรวจอุจจาระสำหรับการระบุชนิดของเอนไซม์โดยเฉพาะ เพื่อให้ทราบว่าเอนไซม์ชนิดใดที่ทำงานผิดปกติ
- การตรวจอุจจาระเพื่อหาปริมาณไขมัน ช่วยให้ทราบว่าระบบทางเดินอาหารยังทำงานเป็นปกติหรือไม่

การเตรียมตัวก่อนตรวจ

การเตรียมตัวก่อนการตรวจอุจจาระนั้นไม่จำเป็นเลย พูดง่าย ๆ ก็คือไม่จำเป็นจะต้องเตรียมตัวก่อนการตรวจอุจจาระ ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร ไม่ต้องเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหาร แต่การดื่มน้ำให้เพียงพอก็อาจช่วยให้การเก็บตัวอย่างทำได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้หากเป็นการตรวจอุจจาระแบบเฉพาะเจาะจง อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนว่ามียาประเภทไหนที่ควรหยุดรับประทานชั่วคราวในช่วงเวลานั้นหรือไม่

ขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเพื่อการตรวจอุจจาระ

ขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเพื่อการตรวจอุจจาระสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

1. เตรียมที่ป้ายสำหรับการเก็บอุจจาระ โดยใช้แผ่นไม้เล็ก ๆ เช่นไม้ไอศกรีม หรือช้อนพลาสติก
2. เตรียมภาชนะเก็บอุจจาระ ซึ่งโดยปกติทางโรงพยาบาลจะเตรียมไว้ให้
3. เตรียมภาชนะรองอุจจาระ เช่นถาดพลาสติกหรือถุงพลาสติก สำหรับเป็นที่รองรับอุจจาระไม่ให้ตกลงในโถส้วม
4. ล้างมือให้สะอาดและใส่ถุงมือยางเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อที่อาจปนเปื้อนมาจากอุจจาระ
5. ปัสสาวะทิ้งให้เรียบร้อยก่อนเพื่อไม่ให้มีปัสสาวะปนเปื้อนไปกับอุจจาระ
6. ถ่ายอุจจาระลงในภาชนะรองอุจจาระ
7. ป้ายอุจจาระให้ได้ขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ โดยเลือกป้ายให้ทั่วไม่เก็บตัวอย่างเฉพาะที่ และหากมีความผิดปกติใด ๆ ให้เก็บตัวอย่างนั้นมาด้วยเช่นมีมูกเลือด
8. เก็บตัวอย่างลงในภาชนะเก็บอุจจาระและปิดฝาให้มิดชิด
9. เขียนหรือติดชื่อนามสกุล วันที่ เวลาเก็บ เลขประจำตัวหรือวันเดือนปีเกิดเพื่อระบุตัวตนลงบนภาชนะเก็บอุจจาระ
10. เก็บภาชนะใส่อุจจาระลงในถุงพลาสติก 2 ชั้นอีกทีโดยปิดปากถุงแต่ละชั้นให้แน่น
11. นำตัวอย่างอุจจาระส่งให้เจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจอุจจาระต่อไป โดยหากยังไม่สามารถส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ได้ก็สามารถเก็บไว้โดยการแช่เย็นในตู้เย็นช่องธรรมดาได้ 24 ชั่วโมง และระยะเวลาเมื่อนำออกจากการเก็บไปยังสถานพยาบาลไม่ควรเกิน 4 ชั่วโมง

เพียงเท่านี้ขั้นตอนการเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อการตรวจอุจจาระก็เป็นอันเสร็จสิ้น จากนั้นก็สามารถรอผลการตรวจอุจจาระได้ โดยทั่วไปจะทราบผลภายใน 24 ชั่วโมง โดยในบางสถานพยาบาลอาจทราบผลได้ภายใน 2 ชั่วโมง

H2: สรุป
การตรวจอุจจาระเป็นการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานที่สามารถตรวจสุขภาพโรคทางเดินอาหารได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพทางเดินอาหาร การตรวจพยาธิ การตรวจวินิจฉัยโรค หรือการตรวจแผลเรื้อรัง 

นอกจากนี้การตรวจอุจจาระยังมีการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก ไม่เสี่ยงเจ็บ ทำได้ในหลายสถานพยาบาล และยังมีราคาย่อมเยาอีกด้วย ดังนั้นการตรวจอุจจาระจึงเป็นการตรวจที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย และเหมาะสำหรับเป็นการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับทุก ๆ คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้