5 โรคทางเดินอาหาร พร้อมสัญญาณเตือนที่คุณไม่ควรมองข้าม

1015 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคทางเดินอาหาร

โรคระบบทางเดินอาหาร

โรคทางเดินอาหาร หนึ่งในภัยร้ายใกล้ตัวที่คนส่วนใหญ่มองข้าม โดยโรคในระบบทางเดินอาหารนี้สามารถเกิดได้ในหลายอวัยวะ เนื่องจากระบบทางเดินอาหารจะรับผิดชอบหน้าที่ทั้งการย่อยอาหาร การดูดซึมแร่ธาตุและสารอาหาร ตลอดจนการขับถ่าย จึงมีอวัยวะที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เริ่มตั้งแต่ ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ถุงน้ำดี และตับอ่อน

โรคทางเดินอาหารสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และเกิดขึ้นได้อย่างไม่เลือกระยะเวลา โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดจาก พยาธิ พันธุกรรม การมีจุลินทรีย์ดี เช่น probiotics ใน Gut Microbiome ไม่เพียงพอ หรือปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ก็ได้ 



1. โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร หนึ่งในโรคทางเดินอาหารที่หลาย ๆ คนอาจเคยเป็น เนื่องจากมีสาเหตุการเกิดโรคที่หลากหลาย ได้แก่ 

  • การได้รับเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) จากการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ

  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดกระดูก

  • การมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นน้ำย่อยได้, การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอย่าง การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรับประทานอาหารที่เผ็ดจนเกินไป

  • การมีภาวะเครียดลงกระเพาะ

อาการของโรคกระเพาะอาหาร

อาการของโรคทางเดินอาหารอย่างโรคกระเพาะอาหารแบ่งออกเป็น 2 ระดับด้วยกันคืออาการระดับเบาที่ผู้ป่วยยังสามารถดูแลตัวเองได้ คืออาการจุกเสียดแน่นท้อง หรือการแสบท้อง และอาการระดับรุนแรงที่ต้องไปพบแพทย์ ได้แก่การถ่ายผิดปกติ เช่น อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน การน้ำหนักลดผิดปกติ การมีอาการตัวซีดหรือตัวเหลือง การปวดท้องรุนแรงเป็นระยะเวลายาวนาน และการอาเจียนรุนแรงหรือมีเลือดปนมากับอาเจียน

วิธีการรักษาหรือการป้องกันโรคกระเพาะอาหาร

โรคทางเดินอาหารประเภทนี้สามารถป้องกันและรักษาเบื้องต้นได้โดยการปรับให้มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดี รับประทานอาหารตรงเวลา และไม่ทำพฤติกรรมที่จะสร้างแผลในกระเพาะอาหารเพิ่ม และการรับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย แต่หากมีอาการหนักควรไปพบแพทย์โดยทันที

2. โรคกรดไหลย้อน

โรคทางเดินอาหารโรคถัดมาอย่างโรคกรดไหลย้อนก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่หลายคนต้องเผชิญ เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น การไม่เว้นช่วงระหว่างเวลารับประทานอาหารกับเวลานอน รับประทานอาหารในปริมาณมากและรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร โรคอ้วน หรือการตั้งครรภ์ก็อาจเป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหารนี้ได้เช่นกัน

อาการของโรคกรดไหลย้อน

อาการของโรคกรดไหลย้อนค่อนข้างเห็นได้ชัด ได้แก่

  • มีอาการแสบร้อนกลางอก

  • รู้สึกถึงความเปรี้ยวและขมซึ่งเป็นรสของน้ำย่อยในปากและลำคอ

  • เกิดอาการจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่

  • รู้สึกเจ็บคอ กลืนลำบาก

  • อาจมีอาการไอหรืออาการเสียงแหบร่วมด้วย

วิธีการรักษาหรือการป้องกันโรคกรดไหลย้อน

การรักษาโรคทางเดินอาหารอย่างโรคกรดไหลย้อนโดยมากแล้วสามารถทำได้ด้วยตนเองคือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดการบริโภคอาหารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ลดความเครียด ออกกำลังกาย เว้นระยะเวลาหลังทานอาหารกับเวลานอนให้เพียงพอ และลดน้ำหนักสำหรับผู้มีน้ำหนักมาก

3. โรคลำไส้อักเสบ

โรคลำไส้อักเสบเป็นอีกหนึ่งโรคทางเดินอาหารที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต จนส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ

อาการของโรคลำไส้อักเสบ

โรคทางเดินอาหารอย่างโรคลำไส้อักเสบอาจมีหลายอาการร่วมกันได้แก่

  • อาการปวดเกร็งในช่องท้อง

  • อาการท้องร่วงและอุจจาระมีความผิดปกติ

  • อาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้

  • อาจเกิดอาการอักเสบตามบริเวณต่าง ๆ ในร่างกาย

วิธีการรักษาหรือการป้องกันโรคลำไส้อักเสบ

การรักษาและการป้องกันโรคทางเดินอาหารโรคนี้จะเน้นไปที่พฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นหลักโดยจะต้องรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป ไม่รับประทานอาหารที่จะทำให้ลำไส้ทำงานหนัก รับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย ดื่มน้ำให้เพียงพอ และรักษาความสะอาดทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร

4. โรคลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคทางเดินอาหารที่ไม่ได้มีสาเหตุแน่ชัด แต่ทางการแพทย์มีการคาดเดาเอาไว้ว่าเกิดจากกเคลื่อนไหวหรือประสาทรับความรู้สึกในระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ

อาการของโรคลำไส้แปรปรวน

อาการที่เด่นชัดของโรคทางเดินอาหารประเภทนี้คือการปวดท้องเรื้อรังแบบเป็น ๆ หาย ๆ เป็นระยะเวลายาวนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป โดยมีอาการขับถ่ายผิดปกติร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย ท้องผูก หรือมีทั้งสองอาการสลับกัน

วิธีการรักษาหรือการป้องกันโรคลำไส้แปรปรวน

วิธีการรักษาโรคทางเดินอาหารอย่างโรคลำไส้แปรปรวนจะรักษาตามอาการเป็นหลักโดยการให้ยาบรรเทา และผู้ป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของตัวเองโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่กลั้นอุจจาระเมื่อปวด

5. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอีกหนึ่งโรคทางเดินอาหารที่ไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยมาจากอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง ตลอดจนโรคอ้วน การมีน้ำหนักเกิน และพันธุกรรม

อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคทางเดินอาหารอย่างโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจมีอาการที่ใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ เช่น

  • อุจจาระผิดปกติ มีเลือดปน

  • ท้องผูกท้องเสียสลับกัน

  • น้ำหนักลดผิดปกติ

แต่ก็มีอาการอื่น ๆ ที่อาจช่วยให้แยกออกจากโรคทางเดินอาหารโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน ได้แก่

  • อาการท้องอืดเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ

  • การคลำเจอก้อนในช่องท้อง

  • อาการโลหิตจาง

วิธีการรักษาหรือการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรมเช่นเดียวกันกับโรคทางเดินอาหารอื่น ๆ แต่จะเพิ่มเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีและการตรวจส่องกล้องเพื่อตรวจสอบสุขภาพในลำไส้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากวิธีการรักษาโรคทางเดินอาหารประเภทนี้จะต้องไปพบแพทย์และให้แพทย์เป็นผู้วางแนวทางการรักษาเท่านั้น

สรุป

โรคทางเดินอาหารเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเกิดได้จากหลายสาเหตุแล้วแต่ว่าเป็นโรคทางเดินอาหารประเภทใด แต่เราสามารถป้องกันและลดโอกาสการเกิดโรคเหล่านี้ได้โดยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การลดอาหารมันหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนการไม่นอนทันทีหลังรับประทานอาหาร

สำหรับท่านที่สนใจสาระน่ารู้ดี ๆ แบบนี้ สามารถกดติดตามเพจ Jpogene เพื่อไม่ให้พลาดทุกบทความสุขภาพและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงได้ไม่ยาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้