ถ่ายยาก เกิดจากอะไร เข้าใจอาการที่อาจเป็นที่มาของโรคสำคัญ

333 Views  | 

ถ่ายยาก เกิดจากอะไร

ถ่ายยาก เกิดจากอะไร สาเหตุที่ทำให้เราท้องผูก ถ่ายยาก ถ่ายไม่ออกมีอะไรบ้าง คนที่กำลังประสบปัญหาท้องผูก ถ่ายอุจจาระไม่ออก เข้าห้องน้ำทีต้องใช้เวลานาน ๆ แถมเบ่งเท่าไหร่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะขับถ่ายง่ายขึ้นเลย คงมีคำถามเหล่านี้อยู่ในใจ ในบทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจว่าปัญหาท้องผูก ถ่ายยากนี้เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และเราจะสามารถทำให้ระบบขับถ่ายกลับไปเป็นปกติ ขับถ่ายคล่อง สบายตัว ได้อย่างไร

ทำความรู้จักปัญหาท้องผูก ถ่ายยาก

ปัญหาท้องผูก ถ่ายยาก หนึ่งในปัญหากวนใจที่นอกจากจะสร้างความลำบากขณะขับถ่ายแล้ว ยังมีโอกาสทำให้เกิดโรคอันตรายบางโรคอีกด้วย หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายยากเป็น ๆ หาย ๆ แก้ไขไม่ได้สักที


ท้องผูกคือ การขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ ถ่ายน้อยเกินไป ถ่ายไม่ออกเป็นเวลานาน ๆ เช่น ถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ เป็นต้น นอกจากนี้การขับถ่ายไม่สุด การที่อุจจาระแข็งมาก ๆ ใช้เวลาขับถ่ายนานเกินไปครึ่งค่อนชั่วโมงก็ยังไม่เสร็จ หรือมีอาการเจ็บปวดขณะขับถ่ายก็อาจเป็นอาการของปัญหาท้องผูกด้วยเช่นกัน

โดยปัญหาท้องผูก ถ่ายยากแบ่งออกเป็น 2 ประเภทจากสาเหตุการเกิด คือ

1. ท้องผูกจากปัจจัยอื่นนอกเหนือจากลำไส้และระบบขับถ่าย เช่น โรคทางระบบต่อมไร้ท่อ หรือการใช้ยาบางชนิด
2. ท้องผูกจากความผิดปกติของลำไส้และระบบขับถ่าย เช่น ลำไส้บีบตัวผิดปกติ

อาการท้องผูก ถ่ายยาก เกิดได้จากหลายสาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก ถ่ายยาก ถ่ายไม่ออก มีมากมาย ทั้งสาเหตุจากตัวระบบขับถ่ายเอง และสาเหตุภายนอก โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ท้องผูก ได้แก่

  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี เช่น ดื่มน้ำน้อย ไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีกากใย หรือไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ดี
  • พฤติกรรมการปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้อง เช่น การไม่ออกกำลังกายเลย การกลั้นอุจจาระเป็นประจำ การเบ่งอุจจาระผิดวิธี
  • ผลแทรกซ้อนจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการทางจิตเวช ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาพาร์กินสัน ยารักษาความดันโลหิตบางกลุ่ม ยาลดกรดบางตัว และยาแก้ปวดกลุ่มที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน
  • ผลแทรกซ้อนจากโรคทางระบบประสาทและโรคทางระบบต่อมไร้ท่อ
  • เกลือแร่ในร่างกายเสียสมดุลผิดปกติ
  • ผลจากโรคลำไส้แปรปรวน
  • กล้ามเนื้อที่ใช้ขับถ่ายเกิดความผิดปกติทำให้แรงเบ่งไม่เพียงพอ
  • ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวน้อยผิดปกติ หรือภาวะลำไส้เฉื่อย

ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อถ่ายยากเป็นประจำ

เมื่อถ่ายยากเป็นประจำ ท้องผูกบ่อย ๆ จะทำให้เกิดภาวะเครียด กระสับกระส่าย ไม่สบายใจ ปวดตามร่างกาย ไปจนถึงแสบร้อนบริเวณอกได้ แต่ผลกระทบสำคัญที่สุดคือเมื่อถ่ายไม่ออกคนเราก็มักจะพยายามออกแรงเบ่งมากตามไปด้วย เมื่อออกแรงเบ่งมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดโรคและภาวะอื่น ๆ ตามมาได้อีก

ตัวอย่างโรคและภาวะที่อาจเกิดขึ้นเมื่อถ่ายยาก เป็นประจำ เช่น

  • โรคริดสีดวงทวาร
  • ภาวะความดันสูง อาจเกิดได้ทั้งบริเวณดวงตาและทรวงอก
  • ภาวะแรงดันในช่องท้องสูง อาจเป็นสาเหตุของไส้เลื่อน
  • ภาวะลำไส้อุดตัน
  • ลำไส้เป็นแผล ลำไส้อักเสบ
  • โรคมะเร็งลำไส้

แก้ปัญหาท้องผูกด้วยวิธีที่เหมาะสม

การแก้ไขปัญหาท้องผูก และทำให้ปัญหาถ่ายยากหมดไป สามารถทำได้หลายวิธี เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เราถ่ายยาก ถ่ายไม่ออกนั้นมีหลากหลาย ดังนั้นการแก้จากสาเหตุปัจจัยต่าง ๆ ก็จะช่วยให้การขับถ่ายของเรากลับมาเป็นปกติได้

แก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพลำไส้

เมื่อท้องผูก ถ่ายไม่ออก สิ่งแรกที่ควรทำคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองโดยเฉพาะพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพลำไส้ซึ่งประกอบไปด้วย 2 พฤติกรรมหลัก ๆ คือ

1. เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
2. เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

การเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารสามารถปรับได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำเป็นประจำให้มากพอ เพื่อให้ลำไส้มีความชุ่มชื้น หรือการรับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ดีมีประโยชน์ต่อร่างกายและอาหารที่มีกากใยสูงให้มากขึ้น 

สำหรับท่านที่สนใจว่าควรรับประทานอาหารชนิดไหนดี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ท้องผูก กินอะไรดี

ในขณะที่การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตคือการออกกำลังกาย ขยับร่างกายให้มากขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมการขับถ่ายคือการเลิกกลั้นอุจจาระ การขับถ่ายให้เป็นเวลา และไม่ออกแรงเบ่งอุจจาระอย่างผิดวิธี ซึ่งหากทำควบคู่กับการเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารก็จะช่วยให้อุจจาระนิ่ม ลำไส้แข็งแรง และขับถ่ายง่ายขึ้นจนไม่ต้องเบ่งมากนั่นเอง

ใช้ยาระบายเป็นตัวช่วย

การใช้ยาระบายเพื่อแก้ปัญหาถ่ายยากเป็นทางเลือกรองลงมาที่อาจจะต้องเลือกใช้หากปรับพฤติกรรมต่าง ๆ แล้วแต่ก็ยังพบปัญหาเดิมอยู่ โดยอยู่ในการดูแลและทำตามคำแนะนำของแพทย์ โดยยาระบายมีหลายประเภท เช่น ยาระบายที่ช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อลำไส้บีบตัว ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ ยาระบายที่ช่วยกระตุ้นการดูดซึมน้ำ และยาสวนทวาร เป็นต้น

การผ่าตัดหากท้องผูก ถ่ายยากรุนแรง

หากรับประทานยาระบายแล้วยังไม่ได้ ยังมีอาการถ่ายยากอยู่ โดยคาดว่าสาเหตุมาจากภาวะลำไส้เฉื่อย มีการตรวจและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว ก็อาจใช้วิธีผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออก ซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายที่ต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ดังนั้นจึงควรพยายามแก้ไขปัญหาท้องผูกให้ได้เสียแต่เนิ่น ๆ หรือไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพื่อให้รักษาได้ทันท่วงที จะได้ไม่ต้องเลือกใช้วิธีสุดท้ายนี้นั่นเอง

สรุป

ถ่ายยาก เกิดจากอะไร ก็ได้คำตอบกันไปแล้วว่า อาการถ่ายยากหรือท้องผูกนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งสาเหตุอื่น ๆ นอกเหนือจากตัวลำไส้เอง เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ทำให้อุจจาระแข็งจนขับถ่ายยาก พฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ดี ผลจากการใช้ยา และผลจากโรคต่าง ๆ หรืออาจเกิดจากสาเหตุความผิดปกติของลำไส้หรือโรคทางเดินอาหาร เช่น ภาวะลำไส้เฉื่อย ลำไส้แปรปรวน ก็เป็นได้

ดังนั้นเราจึงควรแก้ไขปัญหาถ่ายยากนี้เสียแต่เนิ่น ๆ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการใช้ยาระบายภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาในอนาคต 


This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy